ผลการดำเนินงาน SDG6.3.1
กระบวนการบำบัดน้ำเสียของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชมีการบำบัดน้ำเสียแบบ Activated Sludge เป็นกระบวนการบำบัดน้ำเสียทางชีววิทยา โดยใช้แบคทีเรียพวกที่ใช้ออกซิเจน (Aerobic Bacteria) เป็นตัวหลักในการย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสีย ให้มีค่าความสกปรกน้อยลง
หลักการทำงานของระบบนี้คือ โดยทั่วไประบบบำบัดน้ำเสียแบบ Activated Sludgeจะประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ถังเติมอากาศ (Aeration Tank) ส่วนที่ 2 ถังตกตะกอน (Sedimentation Tank) โดยน้ำเสียจะถูกเติมเข้าบ่อเติมอากาศ ซึ่งมีสลัดจ์อยู่จำนวนมาก สภาวะในถังเติมอากาศจะมีสภาพเอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์แบบแอโรบิค จุลินทรีย์เหล่านี้จะย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสียให้อยู่ในรูปคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำ น้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วจะไหลต่อไปยังถังตกตะกอนเพื่อแยกสลัดจ์ออกจากน้ำใส สลัดจ์ที่แยกตัวอยู่ก้นถังตกตะกอนส่วนหนึ่งจะถูกสูบกลับไปที่ถังเติมอากาศอีกครั้งหนึ่งเพื่อรักษาความเข้มข้นของสลัดจ์ในถังเติมอากาศให้ได้ตามที่กำหนด และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นสลัดจ์ส่วนเกิน (Excess Sludge) ที่ต้องนำไปกำจัดต่อไป ส่วนน้ำใสส่วนบนจะเป็นน้ำทิ้งที่สามารถระบายออกสู่สิ่งแวดล้อมได้ โดยน้ำที่ผ่านการบำบัดของ มสธ. จะปล่อยลงสู่คูคลองภายในมหาวิทยาลัย หากน้ำในคลองมีปริมาณมาก หรือเมื่อมีฝนตกหนักก็จะทำการสูบออกลงสู่คลองบางพูดต่อไป
น้ำที่ใช้อุปโภคจะผ่านระบบบำบัดน้ำเสียก่อนไหลลงสู่ท่อระบายของมหาวิทยาลัย บางส่วนนำมารีไซเคิลมาใช้ประโยชน์ในระบบการรดน้ำต้นไม้และการดูแลรักษาภูมิทัศน์
การตรวจวัดคุณภาพน้ำของระบบบำบัดน้ำเสียและบริเวณคูคลองรอบมหาวิทยาลัยนั้นมีการจ้างบริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินงานตรวจวัด และให้ส่งรายงานผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำเป็นรายเดือนให้กองอาคารสถานที่
ในปีงบประมาณ 2566 ประสิทธิภาพการบำบัดน้ำเสียโดยเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ที่ดี (มากกว่า 80%) โดยมีคุณภาพน้ำในพารามิเตอร์ pH, Chlorine, COD, BOD, Suspended Solid, TKN Nitrogen, Nitrate-N และ Phosphate อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนผลการวิเคราะห์น้ำผิวดิน บริเวณคูคลองรอบมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มีคุณภาพน้ำในพารามิเตอร์ pH, Dissolved Oxygen, BOD, COD, Suspended Solid, Total Solid, TKN Nitrogen, Nitrate-N, Phosphate และโลหะหนัก (แคดเมียมและตะกั่ว) อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน